กระดาด สรรพคุณและประโยชน์

ต้นกระดาด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง และมีความสูงได้มากกว่า 1 เมตรจนถึง 2 เมตร ลำต้นสั้นและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล

กระดาด สรรพคุณและประโยชน์

กระดาด ชื่อสามัญ Elephant ear, Giant taro, Ape, Ear elephant, Giant alocasia, Pai

กระดาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia macrorrhizos (L.) G.Don จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)

สมุนไพรกระดาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดาดดำ (กาญจนบุรี), กระดาดแดง (กรุงเทพฯ), บึมบื้อ (เชียงใหม่), บอนกาวี เอาะลาย (ยะลา), โหรา (สงลา), คือ โทป๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เผือกกะลา มันโทป้าด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), กลาดีบูเก๊าะ (มลายู-ยะลา) เป็นต้น (ส่วนข้อมูลอื่นระบุว่ามีชื่อว่า กระดาดเขียว, กระดาดขาว, บอนเขียว

ลักษณะของต้นกระดาด

ต้นกระดาด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง และมีความสูงได้มากกว่า 1 เมตรจนถึง 2 เมตร ลำต้นสั้นและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล มักขึ้นในที่ที่มีอากาศชื้น แสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ใบกระดาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากหัวใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเว้าลึก ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวและเป็นมันลื่น ส่วนท้องใบเรียบ มีเส้นแขนงของใบอยู่ข้างละประมาณ 5-7 เส้น ส่วนก้านใบใหญ่และเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.2-1.5 เมตร

ดอกกระดาด ออกดอกเป็นช่อ ช่อมีลักษณะเป็นแท่งยาวปลายแหลม (ลักษณะคล้ายกับดอกบอน) ออกตรงกลางต้น มีความยาวประมาณ 11-23 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกเล็ก ยาวประมาณ 25-50 เซนติเมตร ดอกมีกาบสีเหลืองอมสีเขียวหุ้มอยู่ ส่วนโคนของกาบโอบรอบโคนของช่อ ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกเพศผู้อยู่ที่บริเวณส่วนบน มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย และระหว่างดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคอดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายเป็นส่วนที่ไม่มีดอก จะยาวประมาณ 6.7-13 เซนติเมตร ปลายมน ดอกเพศเมียจะมีรังไข่ 1 ช่อง และมีออวุลอยู่ 3-5 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมตัด มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยดอกเพศผู้จะสั้นกว่าและกว้างกว่าดอกเพศเมีย ค่อนข้างแบนทางด้านข้าง

ผลกระดาด ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมและมีขนาดเล็ก (บ้างว่าเป็นรูปไข่กลีบ) โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร เนื้อในผลนุ่มสีแดงและมีเมล็ดแข็งอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและเป็นสีดำ

สรรพคุณของกระดาด

  1. น้ำจากก้านใบมีรสเย็น ใช้กินแก้อาการไอ (น้ำจากก้านใบ)
  2. ต้น ราก เหง้าใช้เป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ โดยนำมาต้มกินเป็นยา (ราก, ต้น)
  3. ใช้เป็นยาถ่ายชนิดอุจจาระเป็นพรรดึก (รากหรือเหง้า)
  4. ยาต้มจากใบใช้กินแก้อาการท้องผูกชนิดพรรดึก (ใบ)
  5. ไหลใช้กินเป็นยาขับพยาธิ (ไหล)
  6. รากหรือเหง้ามีรสเย็นและจืด ใช้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
  7. ใบใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยห้ามเลือด (ใบ)
  8. หัวมีรสเมาเย็น นำมาโขลกใช้พอกรักษาแผลที่เป็นหนอง (หัว)
  9. ใบมีรสเย็น ช่วยแก้อาการอักเสบที่ข้อทำให้บวมแดง (ใบ)
  10. รากใช้ทาแก้พิษของแมงป่อง (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : baiyadrugstore