เจตมูลเพลิงขาว สรรพคุณและประโยชน์

ต้นเจตมูลเพลิงขาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น

เจตมูลเพลิงขาว สรรพคุณและประโยชน์

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อสามัญ Ceylon leadwort, White leadwort

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zeylanica L. จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงแดง

สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ), ตั้งชู้อ้วย ตอชูวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตอชู (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก้นหลัวะ (ม้ง), หนวดแมว (ไทลื้อ), ป๋ายฮัวตาน ไป๋ฮวาตัน ไป๋เสี่ยฮวา (จีนกลาง), แปะฮวยตัง (แต้จิ๋ว), ปิ๋ด ปี๋ ขาว ปี่ปีขาว เป็นต้น

ลักษณะของเจตมูลเพลิงขาว

ต้นเจตมูลเพลิงขาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเป็นไม้ในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นและที่แฉะ มักพบขึ้นตามป่าที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบทั่วไป

ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน

ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น

ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว

ภาพจาก : sites.google.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเจตมูลเพลิงขาว

  1. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ลำต้น)
  2. รากใช้เข้ายาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  3. รากใช้เข้ายาบำรุงโลหิต (ราก)
  4. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
  6. ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด (ราก, ทั้งต้น)
  7. ใบมีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
  8. ดอกมีรสร้อน ใช้แก้โรคหนาวเย็น (ดอก)
  9. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคตา (ดอก)
  11. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ลำต้น) หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้โรคมาลาเรียก็ได้เช่นกัน โดยใช้ใบสดประมาณ 8-9 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงข้อมือทั้งสองข้างตรงบริเวณชีพจร โดยให้พอกก่อนที่จะเกิดอาการสักประมาณ 2 ชั่วโมง และให้พอกไปจนกระทั่งบริเวณที่พอกนั้นเย็น แล้วค่อยเอาออก (ใบ) ส่วนชาวม้งจะนำมาใบทุบแล้วหมกไฟให้ร้อน แล้วนำไปไปห่อด้วยผ้า ใช้ห่อมือห่อเท้าผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดไข้ได้ (ใบ)
  12. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
  13. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก, ลำต้น)
  14. ใบช่วยขับเสมหะ (ใบ)
  15. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้อาเจียน (ราก, ลำต้น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : matichonweekly