เจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นเจตมูลเพลิงแดง จัดเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขารอบต้นมาก กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนเป็นสีแดง ส่วนลำต้นมีลักษณะกลมเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวปนแดงและมีสีแดงบริเวณข้อ

เจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณและประโยชน์

เจตมูลเพลิงแดง ชื่อสามัญ Rose-colored leadwort, Rosy leadwort, Fire plant, Official leadwort, Indian leadwort

เจตมูลเพลิงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Plumbago rosea L.) จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงขาว

สมุนไพรเจตมูลเพลิงแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิดปีแดง (เลย), ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ), ไฟใต้ดิน (ภาคใต้), ตอชูกวอ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), คุ้ยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อุบ๊ะกูจ๊ะ (มลายู- ปัตตานี), จื่อเสี่ยฮวา หงฮวาตัน (จีนกลาง), เจ็ดหมุนเพลิง เป็นต้น

ลักษณะของเจตมูลเพลิงแดง

ต้นเจตมูลเพลิงแดง จัดเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขารอบต้นมาก กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนเป็นสีแดง ส่วนลำต้นมีลักษณะกลมเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวปนแดงและมีสีแดงบริเวณข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มรำไร พื้นที่เนินสูง และไม่ชอบที่ชื้นแฉะ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทยเกือบทุกภาค สามารถพบได้ตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณทั่วไป

ใบเจตมูลเพลิงแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว แผ่นใบมักบิด ส่วนก้านใบและแกนกลางใบอ่อนเป็นสีแดง

ดอกเจตมูลเพลิงแดง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ช่อดอกยาวประมาณ 20-90 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ในช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากประมาณ 10-15 ดอก โดยดอกจะออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกบางเป็นสีแดงสด มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบกลมและมีติ่งหนามตอนปลาย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีใบประดับและใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านติดตรงข้ามกลีบดอก มีอับเรณูยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่เป็นรูปรี ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดและมีขนยาวที่โคน ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอก เป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และมีขนเหนียว ๆ ปกคลุม เมื่อจับดูจะรู้สึกว่าเหนียวมือ

ผลเจตมูลเพลิงแดง ออกผลเป็นฝักกลม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกตามร่องได้

ภาพจาก : medthai.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเจตมูลเพลิงแดง

  1. รากมีรสร้อน ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงไฟธาตุในร่างกาย (ราก)
  2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ราก) ช่วยรักษาอาการอันเกิดจากธาตุไฟทั้ง 4 เช่น หายใจถี่ มีอาการตัวเย็น นัยน์ตามัว เบื่ออาหาร ไอแห้ง ปวดท้องไม่หาย มือเท้าเป็นเหน็บชา ชอบนอนนานแล้วไม่อยากลุกขึ้น ฯลฯ (ราก)
  3. ใบนำมาป่นผสมกับพริกไทย ขมิ้นดำ ดีปลี และไพล แล้วปั้นเป็นลูกกลอนใช้เป็นยาบำรุงกำลังและขับลม (ใบ) บ้างว่าใช้รากเข้ายาบำรุงกำลัง (ราก)
  4. รากใช้เป็นยาบำรุง (ไม่ได้ระบุว่าบำรุงอะไร)
  5. ทั้งต้นหรือรากมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับเลือด ฟอกเลือด กระจายเลือดลม (ราก, ทั้งต้น)
  6. ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)
  7. แก้โลหิตเน่าเสีย (ราก)
  8. รากเจตมูลเพลิงแดงจัดอยู่มีตำรับยาขนานสุดท้ายที่ใช้แก้โรคหัวใจและอาการใจสั่น โดยมีส่วนผสมของสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง การบูร ชะมดเชียง เทียนดำ พิมเสน หัวดองดึง อย่างละ 2 บาท กฤษณา กะลำภัก จันทน์เทศ อย่างละ 3 บาท กำยาน ขิง ดอกดีปลี อย่างละ 8 บาท และสนเทศอีก 40 บาท นำทั้งหมดมาบดเป็นผง เติมน้ำมะนาวแล้วปั้นเป็นแท่ง นำไปผึ่งในที่ร่มให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในขวดโหล ใช้รับประทานกับกระสายน้ำมะนาวเมื่อเกิดอาการใจสั่นได้ผลดีนัก
  9. ช่วยทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น (ราก)
  10. เนื่องจากรากเป็นยาที่ช่วยทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น จึงนำมาใช้เป็นขี้ผึ้งปิดอกถอนพิษ แก้ปอดชื้น ปอดบวมได้ดี (ราก)
  11. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคทำให้หนาวและเย็น (ดอก)
  12. ต้นมีรสร้อน ใช้แก้โลหิตที่เกิดแต่กองกำเดา (ต้น)
  13. คนไทยในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย จะนำผ้ามาพันรากเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แล้วนำมาแขวนที่คอเพื่อใช้รักษาโรคดีซ่าน (อาการตาเหลือง ตัวเหลือง) (ราก)
  14. ใบมีรสร้อน ใช้แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
  15. ช่วยกระจายลม (ราก)
  16. ดอกใช้รักษาโรคตา (ดอก)
  17. ผงรากช่วยระงับอาการปวดฟัน แต่ในประเทศฝรั่งเศสจะรากนำมาเคี้ยวเพื่อระงับอาการปวดฟัน (ราก)
  18. ช่วยแก้อาการไอ (ราก)
  19. ช่วยขับเสมหะ (ราก,ใบ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : wikipedia