ตะลุมพุก สรรพคุณและประโยชน์

ต้นตะลุมพุก มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ตามลำต้นและปลายกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวที่จะพัฒนาเป็นกิ่งเล็ก โดยหนามจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ เป็นปมขรุขระทั่วไป

ตะลุมพุก สรรพคุณและประโยชน์

ตะลุมพุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. & Sastre (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Catunaregam uliginosa (Retz.) Sivar., Gardenia pomifera Wall., Gardenia uliginosa Retz., Posoqueria uliginosa (Retz.) Roxb., Randia uliginosa (Retz.) Poir., Solena uliginosa (Retz.) D.Dietr., Xeromphis uliginosa (Retz.) Maheshw.) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)

สุมนไพรตะลุมพุก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนามแท่ง (ตาก), มะคัง (อุตรดิตถ์), ลุมพุก (ลพบุรี, นครสวรรค์, นครราชสีมา, กาญจนบุรี), มอกน้ำข้าว มะข้าว (ภาคเหนือ), ลุมปุ๊ก ลุบปุ๊ก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระลำพุก มะคังขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้, ราชบุรี, สุโขทัย), มุยขาว, โรคขาว เป็นต้น

ลักษณะของต้นตะลุมพุก

ต้นตะลุมพุก มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ตามลำต้นและปลายกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวที่จะพัฒนาเป็นกิ่งเล็ก โดยหนามจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ เป็นปมขรุขระทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อไม้เป็นสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน เนื้อมีความละเอียดและสม่ำเสมอมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือใช้วิธีการตอนกิ่ง มักพบขึ้นตามริมน้ำ ในป่าเบญจพรรณและตามป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร เป็นพันธุ์ป่าที่มีความทนทานต่อภาพแวดล้อม ไม่มีโรคและแมลงมารบกวน มีรูปทรงของต้นไม่แน่นอน ลำต้นไม่ตรง แต่สามารถดัดหรือตัดแต่งได้ไม่ยากนัก

ใบตะลุมพุก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบเรียบ โคนใบสอบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน ผิวใบเรียบ หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบบางและฉีกขาดได้ง่าย แผ่นใบมีขนประปรายปกคลุมอยู่ด้านล่าง มีก้านใบยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีหูใบขนาดเล็กอยู่ระหว่างก้านใบ

ดอกตะลุมพุก ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบใกล้กับปลายยอด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปทรงกลมใหญ่ มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบดอกมน กลีบดอกค่อนข้างหนา ส่วนหลอดกลีบยาวกว่ากลีบดอก ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 ก้าน อับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน ก้านเกสรเป็นสีขาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปถ้วย ยอดเกสรเพศเมียมีน้ำเมือกค่อนข้างมาก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบ โคนเชื่อมกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก

ผลตะลุมพุก ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ กลมรี มีขนาดยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อแน่น แข็ง ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมจำนวนมาก เมล็ดมักฝ่อ โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

ภาพจาก : pantip.com

สรรพคุณและประโยชน์ของตะลุมพุก

  1. แก่นตะลุมพุกใช้ผสมกับแก่นตะลุมพุกแดง (มะคังแดง) น้ำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (แก่น)
  2. รากและแก่นต้มกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงเลือด (ราก, แก่น)
  3. ผลและรากมีรสฝาดสุขุม ช่วยแก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด (ผล, ราก)
  4. ผลช่วยแก้อติสาร (อาการของการเจ็บไข้ที่เข้าขีดตายหรือโรคลงแดง) (ผล
  5. รากและแก่นนำมาต้มกับน้ำดื่ม เข้ายาแก้ปวดเมื่อย (ราก, แก่น)
  6. คนโบราณจะใช้ผลของตะลุมพุกนำมาทุบให้แหลก แล้วนำไปใช้เป็นส่วนผสมของสีย้อมผ้าทำให้สีติดทนนาน อย่างเช่น จีวรพระ
  7. เนื้อไม้ตะลุมพุกเป็นสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน มีความละเอียดและสม่ำเสมอ จึงนิยมนำมาใช้ในงานแกะสลักทั่วไป[1] หรือนำมาใช้ทำเป็นเครื่องใช้สอยหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ทำกระสวย ใช้สำหรับงานกลึง ฯลฯ
  8. ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการปลูกต้นตะลุมพุกไว้เป็นไม้ประดับ เพราะสามารถดัดหรือตัดแต่งได้ไม่ยาก ขยายพันธุ์และปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย ดอกสวยและมีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เมื่อเจริญเติบโตจะสามารถให้ร่มเงาได้ดีเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีใบเป็นจำนวนมาก

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : ku.ac.th