ตานหม่อน สรรพคุณและประโยชน์
ตานหม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia elliptica DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรตานหม่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้ามักหลอด ช้ามักหลอด(หนองคาย), ลีกวนยู (กรุงเทพฯ), ตานหม่น (นครศรีธรรมราช), ตานค้อน (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น
ลักษณะของตานหม่อน
ต้นตานหม่อน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นและพยุงตัวขึ้นไป เปลือกเถาเรียบเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น ลำต้นแตกกิ่งก้านยาวเรียว แตกลำได้ใหม่จากลำต้นที่ทอดไปตามพื้นดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการปักชำต้น ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดจัด สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศตามชายป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบแล้งทั่วไป และเป็นพรรณไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดี
ใบตานหม่อน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบหรือบางครั้งเป็นหยักห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม แผ่นใบเรียบหนาคล้ายหนัง หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสีเงินหรือสีขาวนวล
ดอกตานหม่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบหรือที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีขาวนวล กลีบดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ จำนวนมาก ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ด้านนอกมีขน
ผลตานหม่อน ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ผลมีสัน 5 สัน เมล็ดล่อนเป็นสีดำ ลักษณะเป็นรูปกระสวย
ภาพจาก : herb.in.th
สรรพคุณและประโยชน์ของตานหม่อน
- รากตานหม่อนช่วยคุมธาตุในร่างกาย (ราก)
- ต้นช่วยแก้ตานซาง (ต้น) รากช่วยแก้พิษตานซาง (ราก) ส่วนราก ดอก และใบช่วยแก้ตานซางในเด็ก (ราก, ใบ, ดอก)
- ช่วยรักษาลำไส้ (ต้น, ราก, ใบ, ดอก)
- ต้นมีรสเบื่อเอียน ใช้เป็นยาขับพยาธิ ส่วนรากมีรสหวานชุ่ม ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ต้น, ราก) ส่วนราก ดอก และใบมีสรรพคุณช่วยฆ่าพยาธิ (ราก, ใบ, ดอก)
- รากช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สมบูรณ์ (ราก)
- ใบสดนำมาใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการนำใบมาขยี้ให้ช้ำ ๆ หรือตำพอหยาบ ๆ แล้วนำมาปิดแผลในขณะที่เลือดออก เลือดจะหยุดไหลทันที (คุณตาเติม มงคลเอก หมอยาสมุนไพรโบราณ อ.เมือง จ.เพชรบุรี) (ใบ) (ข้อมูลนี้ไม่ได้รับการยืนยัน)
- ยอดอ่อนตานหม่อนสามารถนำมาต้ม ลวก หรือนึ่ง รับประทานเป็นผักกับน้ำพริกหรือลาบ
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : rsusite