ตีนเป็ดน้ำ สรรพคุณและประโยชน์
ตีนเป็ดน้ำ ชื่อสามัญ Pong pong
ตีนเป็ดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerbera odollam Gaertn. (คาร์เบอรา โอดอลลาม) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
สมุนไพรตีนเป็ดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุม ตูม พะเนียงน้ำ (กาญจนบุรี), สั่งลา (กระบี่), ตีนเป็ด ตีนเป็ดทะเล (ภาคกลาง), มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น
ลักษณะของตีนเป็ดน้ำ
ต้นตีนเป็ดน้ำ มีถิ่นกำเนิดในอินเดียจนถึงทางตอนใต้ของจีน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและนิวแคลิโดเนีย ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบได้เฉพาะทางภาคใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแก่ (เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด) ปลูกได้ดีในดินทั่วไป ชอบแสงแดดเต็มวัน เจริญเติบโตได้เร็ว ไม่ต้องการการดูแลมาก มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด
ใบตีนเป็ดน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบมีติ่งหรือหางใบแหลม โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8.9-30 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีเส้นแขนงใบประมาณ 12-25 เส้น เห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3 เซนติเมตร
ดอกตีนเป็ดน้ำ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-35 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ประมาณ 10-14 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนทับกันด้านซ้ายในตาดอก ปลายกลีบดอกแหลม ดอกบานมีแต้มเหลืองรอบปากหลอดกลีบดอก หลอดกลีบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แฉกกลีบยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านติดกลางหลอดกลีบดอก ส่วนกลีบรองดอกหรือกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแถบหรือรูปใบหอก กลีบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร ปลายกลีบเรียวแหลม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร
ผลตีนเป็นน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม หรือค่อนข้างกลมรีเป็นสองพูตื้น ๆ ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ มีขนาดกว้างประมาณ 6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเนียนเป็นมันและมีจุดเล็ก ๆ สีขาวกระจายทั่วไป ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มถึงสีม่วงเข้ม ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดแข็ง เบา และลอยน้ำได้
ภาพจาก : bloggang.com
สรรพคุณและประโยชน์ของตีนเป็ดน้ำ
- เมล็ดมีฤทธิ์ต่อหัว ช่วยบำรุงหัวใจ (เมล็ด)
- รากช่วยแก้ลม แก้ลมให้กระจาย (ราก)
- แก่นมีรสเฝื่อน ช่วยกระจายลม กระจายเลือด กระจายลมอันฑพฤกษ์ แก้ลมอัณฑพฤกษ์ (ลมที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้) (แก่น)
- ช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)
- ใบมีรสเฝื่อน ช่วยแก้ไข้หวัด แก้ไข้ตัวร้อน (ใบ) ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ดอก) เปลือกต้นและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้หวัด (เปลือกต้น, ทั้งต้น) ส่วนน้ำมันจากเมล็ดใช้ทามีสรรพคุณแก้หวัด (น้ำมันจากเมล็ด)
- รากมีรสเฝื่อน ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- รากช่วยแก้อาเจียน (ราก) ผล เมล็ด ใบ เปลือกต้น และทั้งต้นมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ผล, เมล็ด, ใบ, เปลือกต้น, ทั้งต้น)
- ใบและทั้งต้นแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (เปลือกต้น)
- ช่วยขับผายลม (ราก)
- ช่วยแก้อาการบิด (เปลือกต้น)
- ช่วยสมานลำไส้ (เปลือกต้น)
- ผล เมล็ด ใบ เปลือกต้น และทั้งต้นมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย (ผล, เมล็ด, ใบ, เปลือกต้น, ทั้งต้น)
- ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ ส่วนเปลือกต้นใช้ขับพยาธิไส้เดือน (ใบ, เปลือกต้น)
- เปลือกต้นช่วยแก้นิ่ว ขับนิ่ว (เปลือกต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : srdi.yru.ac.th