เถาเอ็นอ่อน สรรพคุณและประโยชน์
เถาเอ็นอ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cryptolepis dubia (Burm.f.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cryptolepis buchananii Roem. & Schult.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)
สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเถาเอ็น[1] เครือเขาเอ็น[4] (เชียงใหม่), เขาควาย (นครราชสีมา), เสน่งกู (บุรีรัมย์), หญ้าลิเลน (ปัตตานี), หมอตีนเป็ด (สุราษฎร์ธานี), ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ), เครือเอ็นอ่อน (ภาคอีสาน), เมื่อย (ภาคกลาง), กวน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), นอออหมี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กู่โกวเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของเถาเอ็นอ่อน
ต้นเถาเอ็นอ่อน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น เป็นไม้เลื้อยจำพวกเถาเนื้อแข็ง เถาลำต้นกลม เปลือกเถาเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลอมสีดำหรือเป็นสีแดงเข้มและมีลายประตลอดเถา ยาวประมาณ 4-5 เมตร ก้านเล็ก มีสีเทาอมเขียวและไม่มีขนปกคลุม เมื่อเถาแก่เปลือกจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น ๆ มียางสีขาวข้นทั้งต้น พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามป่าราบหรือตามที่รกร้างทางจังหวัดหวัดสระบุรี
ใบเถาเอ็นอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนมีหางสั้น โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมันและลื่น ท้องใบเรียบเป็นสีเขียวนวล ใบอ่อนมีขนปกคลุม ส่วนใบแก่ไม่มีขน เส้นใบตามขวางจะเป็นเส้นตรงไม่โค้ง ใบหนึ่งจะมีประมาณ 30 คู่ ส่วนก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
ดอกเถาเอ็นอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ
ผลเถาเอ็นอ่อน ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระสวย กลมยาว ยาวประมาณ 6.5-10 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางฝักประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฝักมีเนื้อแข็ง โคนผลติดกัน ปลายผลแหลม ผิวผลเป็นมันลื่น พอแก่แล้วจะแตกอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวติดอยู่และปลิวไปตามลมได้ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปกลมยาวแบน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
ภาพจาก : ovolvatips.wordpress.com
สรรพคุณและประโยชน์ของเถาเอ็นอ่อน
- ราก เถา และใบมีรสขมเบื่อเอียน เป็นยาเย็น มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาฟอกเลือด (ราก, เถา, ใบ)
- เถานำมาต้มกินจะช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (เถา)
- เมล็ดมีรสขมเมา เป็นยาขับลมในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ทำให้ผายและเรอ ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เมล็ด)
- เถาใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียว โดยใช้เถาที่บดเป็นผง 0.35 กรัม ผสมกับเหล้ารับประทาน หรือใช้ยาแห้งประมาณ 5-6 กรัม นำมาดองกับเหล้ารับประทานครั้งละ 5 ซีซี วันละ 3 ครั้ง (ตำรับนี้ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ด้วย) (เถา)
- ใบและเถาเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการปวดเมื่อย โดยใบมีรสเบื่อเอียน ใช้ทำเป็นลูกประคบ ด้วยการนำใบมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาห่อกับผ้าทำเป็นลูกประคบแก้เมื่อยขบ แก้ปวดเสียวเส้นเอ็น ช่วยคลายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นที่ตึงยืดหย่อน ส่วนเถามีรสขมเบื่อมัน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้เส้นเอ็นพิการ เส้นแข็ง แก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้อาการปวดบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง แก้ขัดยอก (ใบ, เถา)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : iherbinnovation