เทียนกิ่ง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นเทียนกิ่ง เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย (แหล่งปลูกต้นเทียนกิ่งที่สำคัญของโลกคือที่ประเทศอินเดีย อียิปต์ และซูดาน) โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อยขนาดกลาง

เทียนกิ่ง สรรพคุณและประโยชน์

เทียนกิ่ง ชื่อสามัญ เฮนน่า (Henna) และมีชื่อสามัญอื่น ๆ อีก เช่น Alcana, Cypress shrub, Egyptian Rrivet, Henna Tree, Inai, Kok khau, Krapin, Madayanti, Mehadi, Mignonotte tree, Mong Tay, Lali, Reseda, Sinamomo เป็นต้น

เทียนกิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lawsonia inermis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lawsonia alba Lam.) จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)

สมุนไพรเทียนกิ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนขาว เทียนแดง เทียนไม้ เทียนต้น เทียนข้าวเปลือก เทียมป้อม เทียนย้อม (ภาคกลาง), ฮวงกุ่ย โจนกะฮวยเฮี๊ยะ (จีน) เป็นต้น ส่วนทางภาคอีสานนั้นจะเรียกต้นเทียนกิ่งว่า ต้นกาว หรือ ต้นกกกาว เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เป็นเพราะเมื่อนำใบสดมาตำหรือขยี้จะมีลักษณะเหนียวคล้ายกาว

ลักษณะของเทียนกิ่ง

ต้นเทียนกิ่ง เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย (แหล่งปลูกต้นเทียนกิ่งที่สำคัญของโลกคือที่ประเทศอินเดีย อียิปต์ และซูดาน) โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อยขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มกว้าง ลักษณะของกิ่งก้านเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวนวล กิ่งเมื่อแก่จะมีหนาม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมสีเทา ผิวขรุขระ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดที่มีความชื้นปานกลางถึงต่ำ ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน

ใบเทียนกิ่ง ใบมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมโค้ง โคนใบแหลมเรียวสอบเข้าหากันหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง ก้านใบสั้น

ดอกเทียนกิ่ง ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกระจุกยาว โดยจะออกตามยอดกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก แบ่งเป็นสองสายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกขาวและพันธุ์ดอกแดง[3] ดอกมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ช่อดอกยาวประมาณ 9-14 เซนติเมตร พันธุ์ดอกขาวดอกจะเป็นสีเหลืองอมสีเขียว กลีบดอกแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ ปลายกลีบมน มีรอยย่นยับ กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ที่ฐานดอกที่มีกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ที่กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้านและเกสรเพศเมีย 1 ก้าน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกร่วงได้ง่าย

ผลเทียนกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับเมล็ดพริกไทย ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกหรือแก่เต็มที่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมากอัดกันแน่น ลักษณะของเมล็ดเป็นเหลี่ยม

ภาพจาก : bloggang.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนกิ่ง

  1. ดอกใช้เป็นยารักษาดีซ่าน (ดอก)
  2. รากใช้เป็นยารักษาโรคลมบ้าหมู (ราก)
  3. ดอกแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)
  4. รากใช้เป็นยารักษาตาเจ็บ (ราก)
  5. ใบใช้เป็นยาลดไข้ (ใบ)
  6. ใบเทียนกิ่งสดหรือแห้งนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาอมบ้วนปากและคอ จะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (ใบ)
  7. น้ำต้มใบทั้งสด หรือแห้ง หรือยอดอ่อน เมื่อนำมาดื่มจะช่วยแก้โรคท้องร่วงและแก้ท้องร่วงในเด็กได้เป็นอย่างดี (ใบ, ยอดอ่อน)
  8. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบ)
  9. ใบใช้เป็นยาแก้บิด กระเพาะอาหารผิดปกติ (ใบ)
  10. รากและใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก, ใบ)
  11. ราก ดอก และผลเทียนกิ่งเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ราก, ดอก, ผล)
  12. ช่วยรักษากามโรค (ใบ)
  13. ใบสดมีรสฝาดเฝื่อน ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)
  14. เปลือกต้นช่วยขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน (เปลือกต้น)
  15. ใบสดใช้ตำพอกช่วยห้ามเลือด แก้ห้อเลือด (ใบ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pharmacy.mahidol