บานบุรีเหลือง สรรพคุณและประโยชน์

ต้นบานบุรี จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้เถาอาศัยต้นไม้อื่นเพื่อพยุงตัวขึ้นไป ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบและเป็นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ลำต้นไม่มีขน ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ

บานบุรีเหลือง สรรพคุณและประโยชน์

บานบุรี ชื่อสามัญ Allamanda, Common allamanda, Golden trumpet, Golden trumpet vine, Yellow bell

บานบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Allamanda cathartica L. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ดอกบานบุรีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส

บานบุรี มีอยู่ด้วยหลายชนิด โดยบานบุรีสีเหลือง บานบุรีสีกุหลาบ และบานพารา จะอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุล Allamanda ส่วนบานบุรีสีแสด (บ้างเรียกว่า "บานบุรีหอม") จะอยู่ในสกุล Odontadenia และบานบุรีสีม่วง จะอยู่ในสกุล Saritaea แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ตีนเป็ด ยกเว้นบานบุรีม่วงที่จะจัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) (ผู้เขียน)

ลักษณะของบานบุรีเหลือง

ต้นบานบุรี จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้เถาอาศัยต้นไม้อื่นเพื่อพยุงตัวขึ้นไป ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบและเป็นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ลำต้นไม่มีขน ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และการเพาะเมล็ด ชอบน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เติบโตเร็ว ทนความแล้งและดินเค็มได้ดี มักขึ้นกลางแจ้ง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน แต่อยู่ได้ทั้งในที่ร่มรำไรและที่มีแสงแดดจัด โดยพรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิลและอเมริกาเขตร้อน และจะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ในแต่ละชนิดก็จะมีสีของดอกที่แตกต่างกันออกไป

ใบบานบุรี ใบเป็นใบเดี่ยว และจะติดเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน หรืออาจจะติดอยู่รอบ ๆ ข้อ ข้อละประมาณ 3-6 ใบ ลักษณะของใบบานบุรีเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปหอก รูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร

ดอกบานบุรี ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณยอด โดยจะออกตามวอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหอก ปลายกลีบดอกมนใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้นหรือเป็นหลอดแคบ ดอกตูมนั้น กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5 อัน ติดอยู่ด้านในใกล้กับโคนท่อดอก ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมีช่องเดียว ภายในมีรังไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ก้านเกสรมีขนาดสั้นและมีขน ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกเป็นพิเศษ

ผลบานบุรี ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นหนาม เมื่อแก่จะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ดรูปไข่จำนวนมาก

ภาพจาก : steemit.com

สรรพคุณและประโยชน์ของบานบุรีเหลือง

  1. ใบมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ใบ)
  2. ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ใบ)
  3. ใบมีรสเมาร้อน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดเกร็ง (ใบ)
  4. เปลือกและยาง มีรสเมาร้อน ใช้ปริมาณน้อยมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ช่วยขับน้ำดี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษต่อหัวใจ และทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ (เปลือกและยาง)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pixabay