ขลู่ สรรพคุณและประโยชน์
ขลู่ ชื่อสามัญ Indian marsh fleabane
ขลู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis indica L., Conyza foliolosa Wall. ex DC., Conyza corymbosa Roxb., Conyza indica (L.) Blume ex DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรขลู่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน), หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู่ (ภาคกลาง), เพี้ยฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขลู คลู (ภาคใต้), หลวนซี (จีนกลาง), หล่วงไซ (แต้จิ๋ว) เป็นต้น
ลักษณะของต้นขลู่
ต้นขลู่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ๆ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว ที่ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ มักขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง หรือตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการปักชำ ด้วยการตัดลำต้นชำลงดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายและไม่ต้องการการดูแลรักษาแต่อย่างใด
ใบขลู่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น ๆ ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม โดยรอบมีขนขาว ๆ ขึ้นปกคลุม ใบมีความกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-9 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง และไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบสั้นมาก
ดอกขลู่ ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง โดยจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน โดยกลีบดอกวงนอกจะสั้นกว่ากลีบดอกวงใน ดอกวงนอกกลีบดอกจะยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกวงในกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นรูปท่อยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก ส่วนอับเรณูตรงโคนจะมีลักษณะเป็นรูปหัวลูกศรสั้น ๆ และท่อเกสรเพศเมียจะมีแฉก 2 แฉกสั้น ๆ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนดอกย่อยไม่มีก้านดอก ริ้วประดับมีลักษณะแข็งและเป็นสีเขียว เรียงกันประมาณ 6-7 วง วงด้านนอกนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนวงด้านในจะมีลักษณะคล้ายรูปหอกแคบและตรงปลายจะแหลม
ผลขลู่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลมีสันหรือเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แผ่กว้าง ส่วนเมล็ดขลู่จะมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม
ภาพจาก : technologychaoban.com
สรรพคุณและประโยชน์ของขลู่
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ใบสดแก่,เปลือก ใบ เมล็ด)
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยบำรุงประสาท (ใบ)
- ทั้งต้นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ทั้งต้น) ส่วนใบก็ใช้ชงดื่มเป็นน้ำชาก็มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวานได้เช่นกัน (ใบ)
- ใบใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)
- ใบสดแก่และรากใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก, ใบสดแก่, ทั้งต้น, เปลือก ใบ เมล็ด
- ช่วยรักษาโรคตานขโมย (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ตานซางในเด็ก เข้าใจว่าใช้ใบชงดื่มแทนน้ำชา (ใบ)
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (ทั้งต้น)
- ขลู่ใช้ปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้โรคเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยรักษาเลือดลม (ใบและต้นอ่อน, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาไข้ (ใบและราก,ใบสดแก่)
- ช่วยขับเหงื่อ (ใบและราก,ใบสดแก่) บ้างว่าช่วยล้างพิษได้ด้วย
- ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการขูดเอาแต่ผิวของต้นนำมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบรักษาริดสีดวงจมูก (ผิวต้นหรือเปลือกต้น,ทั้งต้น,เปลือกต้น ใบ เมล็ด)
- เปลือกต้นนำมาสับเป็นชิ้น ๆ ใช้มวนบุหรี่สูบช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสได้ (เปลือกต้น)
- ทั้งต้นสดหรือต้นแห้งใช้เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pantapong