ปรู สรรพคุณและประโยชน์

ต้นปรู หรือ ต้นปรู๋ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำปานกลางถึงมาก และชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน มักพบขึ้นได้ตามบริเวณป่าโปร่งของประเทศที่มีอากาศร้อน

ปรู สรรพคุณและประโยชน์

ปรู ชื่อสามัญ Ankota ปรู ชื่อวิทยาศาสตร์ Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Alangium salviifolium subsp. hexapetalum (Lam.) Wangerin โดยจัดอยู่ในวงศ์ CORNACEAE (ALANGIACEAE)

สมุนไพรปรู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะตาปู๋ (เชียงใหม่), มะเกลือกา (ปราจีนบุรี), ปู๋ ปรู๋ (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ผลู ปลู (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นปรู

ต้นปรู หรือ ต้นปรู๋ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำปานกลางถึงมาก และชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน มักพบขึ้นได้ตามบริเวณป่าโปร่งของประเทศที่มีอากาศร้อน โดยจัดเป็นพรรมไม้พุ่มขนาดกลางหรือเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะเรือนยอดโปร่ง ค่อนข้างกว้าง มีรูปร่างไม่แน่นอน มีความสูงของต้นประมาณ 8-10 เมตร ลักษณะของต้นและกิ่งก้านเกลี้ยง หรืออาจมีขนเล็กน้อยตามกิ่งอ่อน ลำต้นมักบิดและคดงอ ส่วนโคนต้นมักเป็นพูต่ำ ๆ เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแดง แตกล่อนเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในและกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน และแก่นกลางเป็นสีน้ำตาลเขียว จะผลัดใบหมดก่อนผลิดอก มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไปทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 200-500 เมตร

ใบปรู ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือเป็นรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลมออกมา โคนใบแคบแหลมหรือสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยักหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ใต้ท้องใบจะมีเส้นใบประมาณ 3-6 คู่ มองเห็นได้ชัดเจน เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได เนื้อใบบางเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนและเป็นสีเขียวอ่อนใส ส่วนใบแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม

ดอกปรู ออกดอกเป็นช่อรวมกันเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน และมีกลิ่นหอม ดอกมีขนขึ้นอยู่ประปราย กลีบดอกมีประมาณ 5-7 กลีบ ดอกตูมขอบกลีบดอกจะประสานกันเป็นรูปทรงกระบอกยาว ส่วนกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแคบ ๆ ด้านนอกมีขนสีน้ำตาล และแยกแผ่ออกเป็นรูปกังหันในระดับเดียวกันประมาณ 5-6 แฉก มีขนาดประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันลักษณะเป็นท่อรูปกรวย โดยกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่กลีบดอกจะม้วนตัวโค้งกลับมาทางโคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-18 ก้าน ส่วนมากมี 12 ก้าน โคนก้านเกสรมีขนยาว ๆ ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย และจะออกดอกเต็มต้นหลังการผลัดใบหมด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม

ผลปรู ออกผลเป็นกระจุก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปรี ปลายผลมีกลีบรองกลีบดอกติดอยู่ ส่วนกลางผลมีสันแข็งตลอดความยาวของผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลจะไม่แตก แต่จะเป็นร่องตามยาวหลายร่อง (สัน) ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวและมีเนื้อเยื่อสีแดง ๆ บาง ๆ หุ้มเมล็ดแข็ง ผลมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกินหอม ใช้รับประทานได้ โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

ภาพจาก : dnp.go.th

สรรพคุณและประโยชน์ของปรู

  1. ตำรายาไทยใช้แก่นหรือเนื้อไม้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น, เนื้อไม้)
  2. เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาบำรุงธาตุไฟ ปิดธาตุ (เปลือกต้น)
    ส่วนผลมีรสร้อนเบื่อ สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ผล)
  3. ช่วยบำบัดอาการเป็นไข้และช่วยขับเหงื่อ ด้วยการใช้เปลือกรากนำมาต้มเป็นยารับประทาน (เปลือกราก)
  4. ใช้แก้หอบหืด แก้อาการไอ ไอหืด ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)
  5. เปลือกรากนำมาต้มรับประทานเป็นยาแก้พิษ เป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือกราก)
  6. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องร่วง ลงท้อง ท้องเสีย ท้องเดิน (เปลือกต้น) ส่วนผลก็แก้อาการจุกเสียดได้เช่นกัน (ผล)
  7. ใช้เปลือกรากต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาระบาย (เปลือกราก)
  8. ช่วยในการขับพยาธิ ด้วยการใช้เปลือกรากนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกราก) ส่วนผลมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ผล)
  9. เนื้อไม้มีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงลำไส้ (เนื้อไม้)
  10. แก่นหรือเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น, เนื้อไม้)
  11. แก่นมีรสจืดเฝื่อน ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)
  12. เปลือกรากสดนำมาตำให้ละเอียดหรือคั้นเอาแต่น้ำใช้ล้างแผล แก้โรคผิวหนัง (เปลือกราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : nanagarden