น้ำซุปไก่ : เริ่มจากล้างซี่โครงไก่ ลอกเอาหนังและไขมันออก สับเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ต้มน้ำให้เดือดจัด นำโครงไก่ลวกประมาณ 5-6 วินาที แล้วจึงนำมาใส่หม้อ ใส่น้ำพอให้ท่วมโครงไก่เล็กน้อย ใส่หัวไชเท้าประมาณครึ่งหัว ยกขึ้นตั้งไฟ โดยใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน เมื่อน้ำเดือด จึงเปลี่ยนเป็นไฟอ่อน ใส่คึ่นฉ่าย 2 ต้น หมั่นคอยช้อนฟองทิ้ง เคี่ยวจนน้ำเหลือประมาณ 2 ใน 3 ปิดไฟ แล้วยกลงกรอง
ภาพจาก ajinomotofoodservicethailand.com
น้ำซุปหมู : ทำเช่นเดียวกับน้ำซุปไก่ คือ ล้างกระดูกหมู และสับกระดูกหมูตรงข้อต่อให้แตก นำไปลวกในน้ำร้อนจัด แล้วต้มในหม้อที่ใส่น้ำพอท่วมกระดูกหมู ยกขึ้นตั้งไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ใส่หัวไชเท้า พอน้ำเดือด เปลี่ยนเป็นไฟอ่อน ใส่คึ่นฉ่าย เคี่ยวจนน้ำเหลือ 2 ใน 3 ปิดไฟ แล้วยกลงกรอง
ภาพจาก food.mthai.com
น้ำซุปผัก : โดยใช้ฟักเขียว 1 ลูก หัวไชเท้า 2 หัว เห็ดหอม 5 ดอก เริ่มจากปอกฟักเขียว หั่นเป็นชิ้นพอประมาณ หัวไชเท้าปอกเปลือก และหั่นเป็นแว่นหนาประมาณ 1 ซ.ม. ใส่ผักทั้งหมดลงในหม้อ ใส่น้ำพอประมาณ ต้มด้วยไฟปานกลาง จนความหวานจากฟัก และหัวไชเท้าออก ใส่เกลือ พริกไทยเม็ดบุบ เคี่ยวจนน้ำเหลือประมาณ 2 ใน 3 ปิดไฟ แล้วยกลงกรอง
ภาพจาก เมนู.net
ส่วนเคล็ดลับความอร่อย คือ การจะเลือกน้ำซุปชนิดไหน ควรพิจารณาจากเนื้อสัตว์ที่จะใส่ในอาหารชนิดนั้น ๆ เช่น ถ้าแกงจืดหมูสับ ก็ควรใช้น้ำซุปหมู แต่ถ้าแกงจืดไก่สับ ก็ควรใช้น้ำซุปไก่ เป็นต้น
การเก็บซุป คือ ถ้าทำอาหารทุกวัน อาจทำน้ำซุปครั้งละมาก ๆ แล้วเก็บใส่ขวดที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้สัมผัสอากาศ เพราะจะทำให้เสียเร็ว แต่หากต้องการเก็บไว้นาน ๆ อาจตักใส่ถุงพลาสติก ขนาดพอใช้ 1 ครั้ง แล้วแช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้ก็นำออกมาใช้ครั้งละ 1 ถุง
ทำน้ำซุปคราวหน้าก็อย่าลืมนำเทคนิคที่แนะนำไปปฏิบัติตามกันได้ จะได้มีน้ำซุปที่อร่อย ๆ ทานกัน
ขอบคุณ ที่มา : หนังสืออาหารไทย ภาพจาก : restaurants