ภาพจาก shopee.co.th
การเตรียมพร้อมก่อนคลอด
เมื่อ คุณแม่ตั้งครรภ์ราว 8 เดือน ควรตรวจดูว่าได้เตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดทารกน้อยแล้วหรือยัง คุณจะพบกับเหตุการณ์อะไรบ้างเมื่อเข้าห้องคลอด และควรเตรียมของใช้อะไรที่จำเป็นสำหรับการนอนโรงพยาบาล และของใช้สำหรับการดูแลทารกและคุณแม่หลังคลอด
กระเป๋าเตรียมคลอด
ควรจัดเตรียมพร้อม เพื่อสามารถหยิบฉวยได้ทันที เมื่อต้องการอย่างเร่งด่วน สิ่งของที่ควรเตรียมมีดังนี้
- ชุดที่จะใส่หลังคลอดกลับบ้าน 1 ชุด
- ผ้าเช็ดตัวสีเข้ม และผ้าขนหนูเช็ดหน้า 2 ผืน
- สบู่
- ยาสีฟัน แปรงสีฟัน
- ผ้าอนามัยแบบห่วง
- หนังสืออ่านเล่น, นิตยสาร, วิทยุเล็กๆ
- เบอร์โทรศัพท์ของญาติพี่น้อง และเพื่อน
- ของใช้สำหรับทารก ผ้าอ้อม 2 ผืน เข็มกลัดซ่อนปลาย (หรืออาจใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) เสื้อชุดหมีหรือเสื่อชุดนอน ผ้าขนหนูผืนใหญ่
- นอกจากนี้อาจเตรียมยกทรง สำหรับให้นมทารก 2-3 ตัว
ภาพจาก happymom.in.th
การเจ็บครรภ์และการคลอด ในที่สุด การเจ็บครรภ์ และการคลอดก็มาถึง คุณแม่อาจจะรู้สึกหวาดกลัว ตื่นเต้น เพราะจะเป็นช่วงที่มี การเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งหลังจากนั้นจะได้พบกับ ทารกตัวน้อย การผจญกับ การเจ็บครรภ์จะผ่านไปได้ ถ้าคุณแม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน และเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในระยะต่างๆ ของการคลอด การให้กำเนิดลูกน้อย เป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ยิ่งคุณแม่สงบใจ และผ่อนคลายได้มากเท่าไร ก็จะสามารถซึมซับความประทับใจ และผ่านประสบการณ์ ครั้งนี้ได้อย่างน่าจดจำ
การคลอดทางหน้าท้อง การคลอดทางหน้าท้องหรือผ่าตัดคลอด ทางการแพทย์เรียก ซีซาเรียน เซ็คชั่น (cesarean section) จะเป็นวิธีคลอดที่ใช้สำหรับการตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดปัญหาไม่สามารถคลอดปกติทางหน้าท้องได้ เนื่องจากการคลอดทางหน้าท้องจะต้องมีการให้ยาระงับความรู้สึกมากกว่า และเสียเลือดจากการผ่าตัดมากกว่าการคลอดปกติ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทางหน้าท้อง จึงมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดปกติ คุณแม่อาจจะรู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถคลอดทารกทางช่องคลอดเองได้ และอาจรู้สึกกลัวการผ่าตัด แต่ความรู้สึกนี้จะน้อยลงหากคุณแม่เข้าใจเหตุผลของการผ่าตัด ทราบถึงขั้นตอนและการปฏิบัติตัวในการผ่าตัดคลอด ก็จะลดความวิตกกังวลลงได้ในตอนของการผ่าตัดเตรียมคลอด เริ่มด้วยการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ ให้น้ำเกลือที่แขนและใส่สายสวนปัสสาวะ ย้ายเข้าห้องผ่าตัด เตรียมยาระงับความรู้สึกอาจจะใช้วิธีใส่ท่อช่วยหายใจและใช้ดมยาสลบ หรือใช้ยาชาฉีดเข้าโพรงน้ำไขสันหลังหรือเหนือโพรงน้ำไขสันหลัง ซึ่งในกรณีหลังคุณแม่จะสามารถรู้สึกตัวขณะที่ทำการผ่าตัดคลอดทารก และอาจขอดูทารกหลังคลอดทันทีได้
การเลือกวิธีระงับความรู้สึก จะได้รับการพิจารณาโดยวิสัญญีแพทย์ โดยร่วมกับการตัดสินใจของคุณแม่ด้วย หลังได้รับยาระงับความรู้สึก แพทย์จะทำการผ่าตัดคลอดโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ ? -1 ชั่วโมง แผลผ่าตัดปกติจะมี 2 ชนิดคือ แผลตามยาวจากใต้สะดือถึงบริเวณเหนือหัวหน่าว กับแผลตามขวางหรือแผลบิกินี ซึ่งจะอยู่เหนือแนวขนที่อวัยวะเพศเล็กน้อย สำหรับไหมที่เย็บแผลอาจเป็นไหมที่ไม่ละลายซึ่งจำเป็นต้องตัดไหมประมาณ 5-7 วันหลังคลอด และไหมที่ละลายซึ่งไม่ต้องตัดไหมในกรณีที่ไม่มีปมไหม การเกิดแผลเป็นนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ ลักษณะของแผลผ่าตัด แรงตึงของแผล และลักษณะผิวหนังของคุณแม่แต่ละคน ดังนั้น คุณแม่ควรใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย และระวังดูแลบาดแผลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากกว่าการวิตกเรื่องแผลเป็น หลังผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว จะสังเกตอาการต่อในห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงย้ายคุณแม่ไปสู่หอผู้ป่วยหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด ปกติแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านใน 5-7 วันหลังคลอด
บทความโดย น.พ. ภาวิน พัวพรพงษ์