พิมเสน สรรพคุณและประโยชน์

พิมเสนธรรมชาติ หรือ พิมเสนแท้ คือ พิมเสนที่ได้มาจากการระเหิดของยางจากต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาพด้านล่าง (ได้จากการกลั่นเนื้อไม้) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE) (ภาษาจีนกลางเรียกว่า “หลงเหน่าเซียงสู้”)

พิมเสน สรรพคุณและประโยชน์

พิมเสน ชื่อวิทยาศาสตร์ Borneol camphor (พิมเสนธรรมชาติหรือพิมเสนแท้), Borneolum Syntheticum (Borneol) (พิมเสนสังเคราะห์หรือพิมเสนเทียม)

สมุนไพรพิมเสน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พิมเสนเกล็ด (ไทย), ปิงเพี่ยน เหมยเพี่ยน (จีนกลาง) เป็นต้น

หมายเหตุ : พิมเสนที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกันกับต้นพิมเสนที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pogostemon cablin (Blanco) Benth. สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่บทความ พิมเสนต้น

ลักษณะของพิมเสน

โดยทั่วไปแล้วพิมเสนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พิมเสนที่ได้จากธรรมชาติและพิมเสนสังเคราะห์ ซึ่งพิมเสนทั้งสองชนิดจะมีการระเหยและติดไฟได้ง่าย สามารถละลายได้ในแอลกอฮอล์ ปิโตรเลียมอีเทอร์ และคลอโรฟอร์ม แต่จะไม่ละลายหรือละลายได้ยากในน้ำ และมีจุดหลอมตัวของทางเคมีวิทยาอยู่ที่ 205-209 องศาเซลเซียส พิมเสนจะมีกลิ่นหอมเย็น รสหอม ฉุน เย็นปากคอ ในสมัยก่อนจะใช้ใส่ในหมากพลูเคี้ยว

พิมเสนธรรมชาติ หรือ พิมเสนแท้ คือ พิมเสนที่ได้มาจากการระเหิดของยางจากต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาพด้านล่าง (ได้จากการกลั่นเนื้อไม้) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE) (ภาษาจีนกลางเรียกว่า “หลงเหน่าเซียงสู้”) ลักษณะของไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 70 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยว ใบจะอยู่ที่ตอนบนของต้น ส่วนใบที่อยู่ตอนล่างจะออกตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนเป็นสีแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ส่วนผลเป็นผลแห้งมีปีก ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด[3] โดยยางที่ได้จากการระเหิดจะมีลักษณะเป็นเกล็ดใส มีขนาดเล็ก เป็นรูปหกเหลี่ยม และเปราะแตกได้ง่าย พิมเสนจะมีเนื้อแน่นกว่าการบูร ระเหิดได้ช้ากว่าการบูร ติดไฟให้แสงจ้าและมีควันมากแต่ไม่มีขี้เถ้า

พิมเสนสังเคราะห์ หรือ พิมเสนเทียม คือ พิมเสนที่ได้จากสารสกัดจากต้นการบูร (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) Presl. จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE), ต้นหนาด (หนาดหลวง หนาดใหญ่ หรือพิมเสนหนาด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Blumea balsamifera (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) หรือน้ำมันสนโดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา

ภาพจาก : hilight.kapook.com

สรรพคุณและประโยชน์ของพิมเสน

  1. พิมเสนมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด เป็นยาบำรุงหัวใจ
  2. ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ทะลวงทวารทั้งเจ็ด
  3. ช่วยกระตุ้นสมอง กระตุ้นการหายใจ
  4. แก้ลมวิงเวียนหน้ามืด หัวใจอ่อน ทำให้ชุ่มชื่น
  5. ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม
  6. ตำรายาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ให้ใช้พิมเสน 2 กรัมและขี้ผึ้ง 3 กรัมนำมาทำเป็นยาหม่อง ใช้ทาบริเวณลำคอและจมูกจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  7. ช่วยแก้ปากเปื่อย ปากเป็นแผล เหงือกบวม หูคออักเสบ
  8. ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  9. ช่วยขับลมทำให้เรอ ช่วยขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ปวดท้อง
  10. ช่วยรักษาแผลกามโรค
  11. ใช้รักษาบาดแผลสด แผลเนื้อร้าย
  12. ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคผิวหนังต่าง ๆ
  13. การกลั่นใบและยอดอ่อนของหนาดด้วยไอน้ำจะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากินแก้อาการท้องร่วง ปวดท้อง ใช้ขับลม หรือใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ ฟกช้ำ และกลากเกลื้อน
  14. ใช้แก้ผดผื่นคัน ให้ใช้พิมเสนและเมนทอลอย่างละ 3 กรัม ผงลื่นอีก 30 กรัม นำมารวมกันบดเป็นผงใช้ทาแก้ผดผื่นคัน
  15. ใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้อักเสบ

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน